โครงการอบรมออนไลน์ เรื่อง เทคนิคการเตรียมและการเขียนบทความทางวิชาการ สำหรับสายสนับสนุนในระบบการศึกษาไทย รุ่นที่ 3 (Academic Articles Preparing and Writing Technique for Supporting Staff in the Thai Education System)

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 09:00 – 16:30 น. (การอบรมผ่านระบบ Zoom)

 หลักการและเหตุผล

           การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research: R2R) ของบุคลากรสายสนับสนุนในระบบการศึกษาไทย เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรที่เป็นรูปธรรม สนับสนุนการดำเนินงานของผู้บริหารและสายวิชาการให้เป็นไปตามระเบียบและทันสมัย โดยเริ่มจากขั้นตอนการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากงานประจำที่ตนเองปฏิบัติอยู่สู่การพัฒนาต่อยอดเป็นงานวิจัย ซึ่งสามารถนำผลที่ได้มาปรับปรุง แก้ไข และพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยเป็นการผสมผสานระหว่างการพัฒนาคุณภาพในการทำงานและการวิจัยที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมการให้บริการต่าง ๆ ในองค์กร

           การนำเสนอผลงานวิจัยจากงานประจำในรูปแบบของบทความทางวิชาการของบุคลากรสายสนับสนุนในระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันนั้น สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการทั่วไปที่รับตีพิมพ์บทความวิจัยจากงานประจำได้ ที่ผ่านมานั้นพบว่า มีจำนวนบทความทางวิชาการเสนอเข้าไปเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการสนับสนุนของหน่วยงานต้นสังกัดให้มีการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยมากขึ้น ทำให้สายสนับสนุนมีผลงานเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่มากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามบทความทางวิชาการส่วนใหญ่ที่ส่งเข้าไปเพื่อตีพิมพ์นั้น ไม่ได้ถูกจัดเตรียมให้เป็นไปตามรูปแบบของวารสารวิชาการนั้น ๆ ทั้งในเรื่องของการจัดการเนื้อหาที่ได้มาตรฐานการวิจัยจากงานประจำและการจัดทำรูปแบบการนำเสนอ ส่งผลให้บทความทางวิชาการดังกล่าวถูกแก้ไขเป็นส่วนใหญ่ หรือบางบทความถูกปฏิเสธในการตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการนั้น ๆ ได้

           เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสนับสนุนการเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทย จากการพัฒนาระบบ การปฏิบัติงานเป็นนวัตกรรมการให้บริการนั้น สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท) จึงได้จัดโครงการอบรมออนไลน์ เรื่อง เทคนิคการเตรียมและการเขียนบทความทางวิชาการ สำหรับสายสนับสนุนในระบบการศึกษาไทย รุ่นที่ 3 (Academic Articles Preparing and Writing Technique for Supporting Staff in the Thai Education System) เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความสามารถในการเตรียมและเขียนบทความทางวิชาการที่เป็นมาตรฐานตามหลักวิชาการได้

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจในการเตรียมและเขียนบทความทางวิชาการที่เป็นมาตรฐานตามหลักวิชาการได้
    2. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถเขียนโครงร่างการนำเสนอบทความทางวิชาการที่เป็นมาตรฐานตามหลักวิชาการ สำหรับการตีพิมพ์วารสารวิชาการได้

กิจกรรมการดำเนินงาน/เนื้อหาในการอบรม

เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ (ระบบออนไลน์)  ที่ประกอบด้วย

 การบรรยาย

  • กรอบแนวคิดการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยจากงานประจำ สำหรับบุคลากรสายสนับสนุนในระบบการศึกษา
  • เทคนิคการเตรียมบทความทางวิชาการจากการพัฒนางานประจำ สำหรับสายสนับสนุนในระบบการศึกษาไทย
  • เทคนิคการเขียนบทความวิจัยสำหรับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
  • เทคนิคการเขียนบทความวิชาการสำหรับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
  • จริยธรรมทางวิชาการที่ควรรู้สำหรับการสร้างสรรค์ผลงาน

การฝึกปฏิบัติ

  • การเขียนโครงร่างการนำเสนอบทความทางวิชาการที่เป็นมาตรฐานตามหลักวิชาการ สำหรับการตีพิมพ์วารสารวิชาการ

กลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ

    กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรสายสนับสนุนจากระบบการศึกษาทุกระดับ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะศึกษา มหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและในกำกับของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน และผู้สนใจทั่วไป จำนวน 300 คน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

    1. สายสนับสนุนสามารถเตรียมบทความทางวิชาการจากการพัฒนางานประจำได้
    2. สายสนับสนุนสามารถเขียนบทความทางวิชาการสำหรับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการได้
    3. สายสนับสนุนสามารถเขียนโครงร่างการนำเสนอบทความทางวิชาการที่เป็นมาตรฐานตามหลักวิชาการสำหรับการตีพิมพ์วารสารวิชาการได้
    4. สายสนับสนุนมีความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการอย่างมีจริยธรรมทางวิชาการ
    5. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการเตรียมและการเขียนบทความทางวิชาการจากงานประจำ

ความสอดคล้องกับ PSF

           เป็นโครงการสำหรับสายสนับสนุนในระบบการศึกษาไทย เป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของสายวิชาการและผู้บริหาร ผ่านกระบวนการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนางานประจำอย่างเป็นระบบ ในรูปแบบของเอกสารทางวิชาการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถนำผลที่ได้มาปรับปรุง แก้ไข
และพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

การติดตามประเมินผล

  1. แบบประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมการอบรม
  2. จำนวนโครงร่างการนำเสนอบทความทางวิชาการที่ของผู้เข้าอบรม

วิทยากร

ดร.จรงค์ศักดิ์ พุมนวน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

หน่วยงานดำเนินการ

    1. สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท)
    2. ดร.จรงค์ศักดิ์ พุมนวน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ค่าลงทะเบียนจากผู้เข้ารับการอบรม

    สมาชิกสมาคม  ควอท              คนละ  1,000  บาท
    บุคคลทั่วไป                          คนละ  1,500  บาท

    *** หมายเหตุ สมาชิกประเภทสถาบันสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมได้ 2 คน ในราคาสมาชิก ควอท คนละ 1,000 บาท สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดเอกสารสมัครสมาชิกได้ที่ http://www.thailandpod.org/

     

เอกสาร Download

โครงการและกำหนดการ