โครงการอบรมออนไลน์ เรื่อง เทคนิคการเขียนงานเชิงวิเคราะห์จากงานประจำ สำหรับบุคลากรสายสนับสนุนในระบบการศึกษาไทย (Writing Techniques for Analytical Report for Supporting Staffs in the Thai Education System)

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2567 เวลา 09:00 – 16:30 น. (การอบรมผ่านระบบ Zoom)

 หลักการและเหตุผล

           ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลให้ทุกองค์กร ทุกสถาบันต้องมีการปรับตัวให้เป็นนวัตกรรมการให้บริการมากขึ้นเพื่อให้ก้าวทันต่อการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการศึกษาสถานการณ์ในอดีตถึงปัจจุบัน และการศึกษาเพื่อหาสาเหตุของปัญหา/อุปสรรคของงานประจำ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งของกระบวนการพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมการให้บริการที่สามารถเพิ่มศักยภาพ การให้บริการที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม โดยทักษะที่จำเป็นของผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการดังกล่าวคือ “ทักษะเชิงวิเคราะห์”

           การพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานภายใต้บทบาทของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ที่ต้องช่วยวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือวิจัย เพื่อหาทางเลือก ข้อดี ข้อเสีย พร้อมแนวทางในการตัดสินใจให้กับผู้บริหารหรือสายวิชาการให้เป็นไปตามระเบียบและทันสมัยนั้น เป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จและสามารถบรรลุภารกิจของมหาวิทยาลัยได้ โดยเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันและการศึกษาเพื่อหาสาเหตุของปัญหา/อุปสรรคของงานประจำคือ “การวิเคราะห์งานประจำ” ซึ่งเป็นกระบวนการแยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และหาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับเป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไข หรือพัฒนางานประจำต่อไป และยังสามารถสร้างสรรค์เป็นงานวิจัย (Routine to Research: R2R) ต่อไปได้ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้ในการตัดสินใจ ของผู้บริหารของในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งนี้เพื่อการขับเคลื่อนองค์กร ให้เป็น “องค์กรสมรรถนะสูง หรือ High Performance Organization (HPO)” ต่อไป

           เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรสนับสนุนในระบบการศึกษาไทย สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท) จึงได้จัดโครงการอบรมออนไลน์ เรื่อง เทคนิคการเขียนงานเชิงวิเคราะห์จากงานประจำ สำหรับบุคลากรสายสนับสนุนในระบบการศึกษาไทย (Writing Techniques for Analytical Report for Supporting Staffs in the Thai Education System) เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความสามารถในการพัฒนางานประจำสู่การเขียนรายงานเชิงวิเคราะห์จากงานประจำได้

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีแนวทางในการเขียนงานเชิงวิเคราะห์จากงานประจำได้
    2. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถเขียนโครงร่างงานเชิงวิเคราะห์จากงานประจำได้  

ลักษณะกิจกรรมการดำเนินงาน

    เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ (ระบบออนไลน์)  ที่ประกอบด้วย

    •  การบรรยาย
    • กรอบแนวคิดในการพัฒนางานประจำสู่นวัตกรรมการให้บริการ
    • เทคนิคการตั้งคำถามจากงานประจำสู่การสร้างสรรค์ผลงานเชิงวิเคราะห์
    • รูปแบบการเขียนรายงานเชิงวิเคราะห์งานจากงานประจำ
    • จริยธรรมทางวิชาการที่สร้างสรรค์ผลงานเชิงวิเคราะห์ควรรู้
    •  การฝึกปฏิบัติ
    • การตั้งชื่อเรื่อง วัตถุประสงค์ และของเขตของงานเชิงวิเคราะห์จากงานประจำ

กลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ

    กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรสายสนับสนุนจากระบบการศึกษาทุกระดับ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะศึกษา มหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและในกำกับของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน และผู้สนใจทั่วไป จำนวน 300 คน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

    1. สายสนับสนุนมีแนวทางการเขียนรายงานเชิงวิเคราะห์งานจากงานประจำของตนเองที่ถูกต้องและเหมาะสม
    2. สายสนับสนุนสามารถร่างขอบเขตของรายงานเชิงวิเคราะห์งานจากงานประจำของตนเองได้
    3. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการเขียนรายงานเชิงวิเคราะห์งานจากงานประจำของตนเองกับของผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งสามารถเป็นประสบการณ์ในการเขียนรายงานเชิงวิเคราะห์งานจากงานประจำของตนเองต่อไปได้

สอดคล้องกับ PSF

    เป็นโครงการสำหรับสายสนับสนุนในระบบการศึกษาไทย เป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของสายวิชาการและผู้บริหาร ผ่านกระบวนการแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนางานประจำอย่างเป็นระบบ เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กร ในการสังเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากงานประจำที่ตนเองปฏิบัติอยู่ และพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมการให้บริการ เพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การติดตามประเมินผล

  1. แบบประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมการอบรม
  2. ผลการประเมินความรู้ความเข้าใจของผู้เข้าร่วมอบรม

วิทยากร

ดร.จรงค์ศักดิ์ พุมนวน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

หน่วยงานดำเนินการ

    1. สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท)
    2. ดร.จรงค์ศักดิ์ พุมนวน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ค่าลงทะเบียนจากผู้เข้ารับการอบรม

    สมาชิกสมาคม  ควอท              คนละ  1,000  บาท
    บุคคลทั่วไป                          คนละ  1,500  บาท

    *** หมายเหตุ สมาชิกประเภทสถาบันสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมได้ 2 คน ในราคาสมาชิก ควอท คนละ
    1,000 บาท สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดเอกสารสมัครสมาชิกได้ที่ http://www.thailandpod.org/

     

เอกสาร Download

โครงการและกำหนดการ